ข้อมูลเพิ่มเติม
การจัดการเรียนรู้และการจัดการชั้นเรียน
การบริหารจัดการชั้นเรียน
การบริหารจัดการชั้นเรียน
เป็นวิธีการดำเนินการให้ชั้นเรียนได้อยู่ในสภาพความพร้อมที่จะดำเนินการเรียนการสอนให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
เพื่อให้เกิดประสิทธิผลในการเรียนรู้ของผู้เรียนอย่างแท้จริง
เนื่องด้วยชั้นเรียนเป็นแหล่งการเรียนรู้พื้นฐานในรายวิชาต่างๆ
ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ
ทั้งประกอบด้วยผู้เรียนที่มีความแตกต่างกันในด้านต่างๆอย่างชัดเจน หรืออาจเรียกว่า
“ความแตกต่างระหว่างบุคคล” (Individual
Difference) ชั้นเรียนที่มีการบริหารจัดการดีเป็นความสามารถของผู้สอนที่ส่งผลต่อบรรยากาศการเรียนรู้ของผู้เรียนเป็นปัจจัยสำคัญของการเรียนการสอน
และหมายความรวมถึง ผู้เรียนมีความสุขในขณะที่อยู่ในชั้นเรียน ความสุขของผู้เรียนเป็นสิ่งที่สุดยอดปรารถนาของผู้สอน
และผู้รับผิดชอบทางการศึกษาต้องพยายามจัดให้มีขึ้นโดยทั่วกัน
การบริหารจัดการชั้นเรียนเป็นองค์รวมของการบูรณาการความรู้ ความสามารถของครูผู้สอน
พร้อมทั้งก่อให้เกิดแรงจูงใจให้ผู้เรียนได้มาโรงเรียนทุกวันอย่างมีความสุข (สันติ
บุญภิรมย์. 2557 : 113)
ความหมายของการบริหารจัดการชั้นเรียน
อรจรีย์ ณ ตะกั่วทุ่ง (2545 : 10) ได้ให้ความหมายว่า การจัดการชั้นเรียน หมายถึง
การปฏิบัติและกลยุทธ์ที่ใช้เพื่อจัดระเบียบ (Order)
ในห้องเรียน หากต้องการจัดการห้องเรียนจำเป็นต้องประยุกต์หลักการหลายข้อ
ได้แก่
1. การเตรียมจัดการสอน
เป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับปีการศึกษา จัดระเบียบห้องเรียน
เลือกและสอนกฎระเบียบและวิธีปฏิบัติ
2. การวางแผนการจัดการ
เป็นการวางแผนการเรียนการสอนโดยมีหลักการจัดการอยู่ในใจตลอดเวลา
วางแผนเพิ่มแรงจู.ใจ วางแผนจัดการกับนักเรียนที่แตกต่างกัน
และวางแผนร่วมมือกับผู้ปกครอง
3. การดำเนินการในชั้นเรียน เป็นการสร้างความร่วมมือ
และความรับผิดชอบ กระตุ้นและเสริมแรงพฤติกรรมที่เหมาะสม
และดำเนินการเรียนการสอนตามแผน
สุรางค์ โค้วตระกูล (2556 : 470) ได้ให้ความหมายว่า การจัดการชั้นเรียน หมายถึง
การสร้างและการรักษาสิ่งแวดล้อมของห้องเรียนเพื่อเอื้อต่อการเรียนรู้ของนักเรียน
หรือหมายถึงกิจกรรมทุกอย่างที่ครูทำเพื่อจะช่วยให้การสอนมีประสิทธิภาพและนักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ในการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้สำหรับบทเรียนหนึ่งๆนอกจากนี้การจัดการห้องเรียนยังรวมถึงการที่ครูสามารถที่จะใช้เวลาที่กำหนดไว้ในตารางสอนได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย
และการจัดที่นั่งของนักเรียน
และอุปกรณ์ที่ครูจะใช้ในการสอนให้อยู่ในสภาพที่จะช่วยครูได้ในเวลาสอน
สันติ บุญภิรมย์ (2557 : 114) ได้ให้ความหมายว่า
การจัดการชั้นเรียน หมายถึง กระบวนการดำเนินการในชั้นเรียน ประกอบด้วย 1) การเตรียมการ
2) การวางแผนจัดการ 3) การดำเนินการในชั้นเรียน
สำหรับในแต่ละขั้นมีรายละเอียดประกอบ ดังนี้
1. การเตรียมการ หมายถึง
การจัดเตรียมการเรียนไว้ให้พร้อมที่จะมีการเรียนการสอนในปีการศึกษานั้นๆ
ซึ่งเป็นการเตรียมความพร้อมในด้านศักยภาพ
2. การวางแผนการเรียนการสอน
หมายถึง การวางแผนการเรียนการสอนในชั้นเรียนและการวางแผนการเลือกใช้กิจกรรมต่างๆ
มาใช้ประกอบการเรียนการสอนที่คาดว่าน่าจะบรรลุผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ของรายวิชานั้นๆ
3. การดำเนินการในชั้นเรียน หมายถึง
การดำเนินการเรียนการสอนให้เป็นไปตามกระบวนการที่ได้กำหนดไว้มีวัตถุปะสงค์เพื่อผู้เรียนได้มีความรู้
ความสามรถตามสมรรถนะของรายวิชาพร้อมทั้งมีปฏิกิริยาร่วมระหว่างผู้สอนกับผู้เรียนเพื่อให้ผู้เรียนได้รับประโยชน์สูงสุดต่อการดำเนินการเรียนการสอนในแต่ละครั้ง
และก่อให้เกิดความพึงพอใจทั้งสองฝ่ายในระดับที่ยอมรับได้เพื่อมุ่งสู่ความเป็นเลิศในชั้นเรียน
ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า การจัดการชั้นเรียน
หมายถึง การสร้างและการรักษาสิ่งแวดล้อมของห้องเรียนเพื่อเอื้อต่อการเรียนรู้ของนักเรียน
รวมทั้งวิธีการสร้างระเบียบวินัยในห้องเรียน เพื่อรักษาสภาพบรรยากาศในห้องเรียน
ช่วยให้การเรียนการสอนดำเนินไปอย่างราบรื่น
นักเรียนเกิดความร่วมมือในกิจกรรมการเรียนรู้
ความสำคัญของการบริหารจัดการชั้นเรียน
ความสำคัญของการบริหารจัดการชั้นเรียน (Importance of Classroom Management) ที่มีต่อผู้เรียน ดังต่อไปนี้
1. ช่วยให้ผู้เรียนเกิดความอบอุ่นในขณะอยู่ในชั้นเรียน
และมีความสุขในขณะที่มีการเรียนการสอน
2. ช่วยให้ส่งเสริมสนับสนุนบรรยากาศแห่งการเรียนรู้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ทั้งในเวลาเรียนปกติและนอกเวลาเรียน
3. ช่วยให้ผู้เรียนและผู้สอนได้มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันตามธรรมชาติของรายวิชานั้นๆ
4. ช่วยส่งเสริมให้ผู้เรียนได้ตระหนักในเรื่องของวินัยในชั้นเรียน
5. ช่วยป้องกันสิ่งรบกวนที่เป็นสภาพแวดล้อมภายนอกที่มีต่อการเรียนการสอนและการทำกิจกรรมต่างๆของผู้เรียน
ดังนั้น การบริหารจัดการชั้นเรียน
จึงเป็นการช่วยให้การเรียนรู้ของผู้เรียนและการสอนของผู้สอนได้เอื้ออำนวยต่อกิจกรรมการเรียนการสอน
ซึ่งเป็นกิจกรรมที่มีความสำคัญที่สุดในขณะนั้นให้บรรลุผลสำเร็จตามความมุ่งหมายของการศึกษาในระดับสูงสุด
และผู้เรียนได้รับการพัฒนาศักยภาพได้เต็มตามอัตภาพพร้อมทั้งส่งเสริม
สนับสนุนการสอนของผู้สอนให้เต็มศักยภาพทั้งสองฝ่าย (สันติ บุญภิรมย์. 2557 : 115)
องค์ประกอบของการบริหารจัดการชั้นเรียน
สันติ บุญภิรมย์ (2557 : 115-116) ได้กล่าวถึงองค์ประกอบของการจัดการชั้นเรียนไว้ดังนี้
องค์ประกอบของการจัดการชั้นเรียน (Element
of Classroom Management) เพื่อให้ชั้นเรียนได้เกิดประโยชน์สูงสุดกับผู้เรียน
ดังนั้น จึงมีการจัดองค์ประกอบของการจัดการชั้นเรียนดังต่อไปนี้
1. องค์ประกอบด้านกายภาพ หมายถึง
สิ่งอำนวยความสะดวกภายในชั้นเรียนจัดให้มีไว้อย่างเพียงพอ พร้อมใช้งานได้ตลอดเวลา
ซึ่งประกอบด้วย โต๊ะ เก้าอี้ ทั้งของผู้เรียนและผู้สอน กระดานดำ
บอร์ดสำหรับจัดนิทรรศการ หรืออาจกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า
การจัดเตรียมการในด้านวัสดุอุปกรณ์ สิ่งอำนวยความสะดวกอื่นไว้อย่างครบถ้วน
และมีคุณภาพดีพร้อมใช้งานตลอดเวลา
2. องค์ประกอบด้านสังคม
หมายถึง การมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนกับผู้สอนในรูปแบบต่างๆ
ตามกิจกรรมประกอบการเรียนการสอนในแต่ละรายวิชา ผู้สอนกับผู้เรียนได้ช่วยกันทำงาน
ผู้เรียนทำงานกันเป็นกลุ่ม ผู้สอนสาธิตให้ผู้เรียนได้ศึกษาสังเกต
3. องค์ประกอบด้านการศึกษา หมายถึง
การจัดลำดับเนื้อหาสาระ ความรู้ให้เหมาะสมกับวุฒิภาวะของผู้เรียน
พร้อมทั้งให้ผู้เรียนมีกาสวางแผนการเรียนร่วมกับผู้สอน
และให้ผู้เรียนได้ตระหนักในคุณค่าของความรู้ ความสามารถที่ได้รับจากผู้สอน
หรือการศึกษาค้นคว้าตามที่ได้รับมอบหมายให้เต็มตามอัตภาพ ทั้งนี้
เนื่องด้วยการจัดการศึกษาในส่วนของการจัดการชั้นเรียนเป็นเป้าหมายสูงสุดในการเรียนรู้
คือ ให้ผู้เรียนได้รับความรู้ ความสามารถ
และประสบการณ์ให้เป็นไปตามอัตภาพและผู้เรียนสามารถพัฒนาได้โดยให้ความสำคัญไปที่การบริหารจัดการชั้นเรียน
เนื่องจากชั้นเรียนเป็นสถานที่อยู่ของผู้เรียนตลอดระยะเวลาของการมาเรียนที่โรงเรียน
สำหรับองค์ประกอบด้านกายภาพและด้านสังคม เป็นส่วนส่งเสริม
สนับสนุนให้องค์ประกอบด้านการศึกษาของผู้เรียนได้มีความสมบูรณ์ครบถ้วน
แนวคิดเกี่ยวกับการบริหารจัดการชั้นเรียน
การบริหารจัดการชั้นเรียนเป็นการจัดสภาพแวดล้อมในชั้นเรียนให้สะอาดเรียบร้อย
น่าอยู่ น่าเรียน เพื่ออำนวยความสะดวกในการเรียนรู้และการเรียนการสอนของผู้สอน
เพื่อส่งเสริมวินัยในตนองและวินัยในสังคมให้ผู้เรียน
ให้ผู้เรียนเกิดพัฒนาการทุกด้าน เพื่อใช้ทำกิจกรรมต่างๆ เกี่ยวกับประสบการณ์การเรียนรู้ทั้งของผู้เรียนและผู้สอน
นอกจากนั้น พวงรัตน์ เกษรแพทย์ (อ้างอิงจาก ศิริบูรณ์ สายโกสุม 2548 : 223-240) ได้กล่าวถึงจุดมุ่งหมายในการบริหารจัดการชั้นเรียน
เพื่อช่วยรักษาสภาพแวดล้อมในการเรียนให้เป็นไปในทางบวกและเสริมสร้างในการบริหารจัดการชั้นเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
คือ
1. เพื่อให้มีเวลาในการเรียนรู้เพิ่มมากขึ้น
คือการขยายเวลาแต่ละเสี้ยววินาทีให้มีสำหรับการเรียนรู้เพิ่มมากขึ้น
ควรหลีกเลี่ยงการเข้าสายและออกก่อนเวลา ขจัดการขัดจังหวะการรบกวนขณะที่มีครูสอน
ครูควรจัดการสอนให้มีลำดับต่อเนื่องกัน ให้เด็กทำกิจกรรมที่มีความหมาย
ให้เด็กมีความตื่นตัวทำกิจกรรมที่เหมาะสมและคุ้มค่า
2. วิธีการในการเรียนรู้
การจะให้กิจกรรมทุกอย่างดำเนินไปโดยราบรื่น
ครูต้องแน่ใจว่าเด็กมีส่วนร่วมในกิจกรรมเฉพาะอย่างไร
ครูมีเกณฑ์และความคาดหวังอย่างไร ที่เป็นที่เข้าใจดี การให้สัญญาณเพื่อให้นักเรียนมีส่วนร่วม
มีความชัดเจนสม่ำเสมอ หรือไม่ครูควรวางกฎเกณฑ์ไว้ชัดตั้งแต่ต้นปีการศึกษา
3. การบริหารเพื่อให้นักเรียนสามารถบริหารตนเองได้ดีขึ้นและสามารถพึ่งพาตนเองได้
กระตุ้นให้เด็กมีการจัดการกับตัวเอง ครูจะต้องใช้เวลาเป็นพิเศษเพื่อสอนให้เกิดสิ่งเหล่านี้
เป็นการสอนให้เกิดจิตสำนึกและความรับผิดชอบ
หลักการบริหารจัดการชั้นเรียน
พวงรัตน์ เกษรแพทย์ (อ้างอิงจาก สุพิน บุญชูวงศ์ 2544 : 128-129) ได้สรุปหลักการจัดการชั้นเรียนไว้ดังนี้
1. ชั้นเรียนควรมีสีสันที่น่าดูสบายตา
มีอากาศถ่ายเทได้ดี แสงสว่างเพียงพอ ไม่มีเสียงรบกวน อากาศไม่เป็นพิษ
ไม่ร้อนจนเกินไป มีต้นไม้ ดอกไม้ประดับ และมีขนาดกว้างขวางอย่างเพียงพอ
2. สะอาดถูกสุขลักษณะ เป็นระเบียบเรียบร้อย
น่าอยู่มีบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมคล้ายคลึงกับชีวิตในบ้าน ในครอบครัวของนักเรียน
3. สิ่งที่อยู่ในชั้นเรียน ไม่ว่าจะเป็นโต๊ะ เก้าอี้
มุมหนังสือ ป้ายนิเทศ สื่อการสอน ประเภทต่างๆสามารถเคลื่อนไหว เคลื่อนที่ได้
สามารถจัดหรือดัดแปลงชั้นเรียนให้มีลักษณะเอื้ออำนวยต่อการสอนและกิจกรรมประเภทต่างๆ
ได้
4. นักเรียนเรียนรู้ในชั้นเรียนอย่างมีความสุข
มีอิสระ เสรีภาพในเรื่องการเรียนรู้และในขณะเดียวกันก็มีวินัยในการดูแลตัวเองและการอยู่ร่วมกับผู้อื่น
ปฏิสัมพันธ์ของนักเรียนและครูกับนักเรียนเป็นไปด้วยดี
ทั้งส่งเสริมบรรยากาศและมีความเข้าใจในบทบาทของตนเอง
5. จัดมุมหนังสือ มุมประสบการณ์
สื่อการสอนบางประเภทให้เพียงพอ และมีประโยชน์ต่อการเรียนรู้ของนักเรียน
6. ชั้นเรียนที่ดีไม่จำกัดเฉพาะในห้องสี่เหลี่ยมที่กำหนดให้เท่านั้น
แต่ยังมีชั้นเรียนแบบเปิด
แบบธรรมชาติเป็นการศึกษานอกชั้นเรียนที่นักเรียนมีความต้องการและสนใจเช่นเดียวกัน
7. การเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อม เนื้อหาสาระ
กระบวนการเรียนรู้ที่ต้องกระทำอยู่เสมอ ตามเหตุการณ์ข่าวคราวความเคลื่อนไหว
สิ่งที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ของนักเรียน
8. ควรมีการจัดการเตรียมพร้อมต่อการสอนแต่ละครั้ง
เพื่อพัฒนาทักษะสำคัญๆบางประการ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น