วันอังคารที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2562

การออกเเบบห้องเรียนเเนวใหม่ (New Classroom Design)


การออกเเบบห้องเรียนเเนวใหม่ (New Classroom Design)

ห้องเรียนในฝันของการศึกษาศตวรรษที่ 21: บทบาทอันสำคัญของห้องเรียนในการส่งเสริมการเรียนรู้ในโลกสมัยใหม่
          ชีวิตในโลกสมัยใหม่เป็นชีวิตที่นักเรียนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้อย่างสะดวกสบายและรวดเร็วในระดับเสี้ยววินาที ส่งผลให้ห้องเรียนแบบเดิมถูกตั้งคำถามและจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อให้สอดรับกับการเรียนรู้ในยุค Disruptive Technology

1. สภาพแวดล้อมชวนให้อยากเรียนรู้
          ห้องเรียนควรมีสภาพแวดล้อมเชื้อเชิญให้ผู้เรียนเกิดความต้องการที่จะเรียนรู้ และเอื้อให้ครูกับนักเรียนใกล้ชิดกันมากที่สุด โดยกระทรวงศึกษาได้กำหนดจำนวนที่เหมาะสมของนักเรียนต่อห้องเรียน แบ่งตามระดับการศึกษา ดังนี้
– จำนวนของนักเรียนระดับปฐมวัย 30 คนต่อห้องเรียน
– จำนวนของนักเรียนระดับประถมศึกษา 30 คนต่อห้องเรียน
– จำนวนของนักเรียนระดับมัธยมศึกษา 40 คนต่อห้องเรียน
          แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในความเป็นจริงคือ ยังมีห้องเรียนอีกมากที่มีจำนวนของนักเรียนเยอะจนแออัด ดังนั้นครูจึงมีหน้าที่ในการสร้างบรรยากาศห้องเรียนที่เต็มไปด้วยข้อจำกัดต่างๆ ออกมาให้เอื้อต่อการเรียนรู้มากที่สุด เช่นการเว้นทางเดินในห้องเรียนให้โล่ง ไม่มีสิ่งกีดขวาง เป็นระเบียบ นอกจากนี้ครูยังควรจัดหาอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับการจัดการเรียนรู้อย่างน้อยก็ในระดับพื้นฐานให้แก่นักเรียน โดยเฉพาะพื้นที่บริเวณผนังห้อง ไม่ควรปล่อยไว้ให้โล่งเปล่า แต่ครูสามารถสร้างให้กลายเป็นพื้นที่สำหรับการเรียนรู้ที่ไม่จำกัดเฉพาะในกระดานดำ

2. ผู้เรียนมีความเข้าใจและปฏิบัติตามกฏของห้องเรียน
          ครูเป็นผู้ที่มีบทบาทหลักในการวางแผนและออกแบบการจัดการเรียนการสอนในชั้นเรียน รวมทั้งการวางกฏเกณฑ์ กระบวนการ และแจ้งให้ผู้เรียนทราบถึงกิจกรรมต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นตลอดปีการศึกษา ทั้งนี้ควรติดประกาศไว้ในที่ที่ง่ายต่อการมองเห็น
          นอกจากนี้ การที่ครูหาประโยคที่เป็นข้อคิดหรือให้กำลังใจในการเรียนมาติดไว้ในห้องเรียนก็สามารถสร้างพลังและทำให้นักเรียนเกิดความเข้าใจว่า คุณครูของเขาคาดหวังต่อตัวของเขาอย่างไร นับเป็นวิธีการง่ายๆ ในการทำให้เด็กมีวินัยในตัวเอง

3. นักเรียนมีความกระตือรือร้นในการแสวงหาความรู้
          ในห้องเรียนควรมีบรรยากาศการเคลื่อนไหว เสียงหัวเราะ แม้แต่การพูดคุยส่งเสียงดังก็ยังได้ เพราะมันแสดงให้เห็นถึงการเรียนรู้ในเชิงรุก ซึ่งแตกต่างจากห้องเรียนที่เงียบสงบอย่างเช่นในอดีต
          นักเรียนในห้องเรียนนี้ควรได้รับอนุญาตให้ลุกขึ้นหรือนั่งลงบนเก้าอี้ของตัวเองได้ตามใจ เพื่อจะสร้างการมีส่วนร่วมในกิจกรรมที่พวกเขาสนใจและส่งเสริมให้พวกเขาคิดและรู้จักค้นคว้าด้วยตนเอง
          เด็กๆ ควรพูดมากกว่าครู และห้องเรียนที่มีการจัดการเรียนรู้ที่ดีจะไม่มีเด็กหลับหรือนั่งอย่างเกียจคร้านเพื่อรอให้หมดเวลาเรียน

4. สมาชิกในห้องมีความเคารพซึ่งกันและกัน
          คุณครูและนักเรียนปฏิบัติต่อกันด้วยความเคารพและให้เกียรติกัน ผ่านทางการปฏิบัติและทางวาจา รวมทั้งน้ำเสียงเวลาพูดคุยกัน และนอกจากการพูดจาอย่างสุภาพต่อกันแล้ว นักเรียนยังส่งเสียงแสดงความคิดเห็นและความต้องการของตนเองด้วยน้ำเสียงที่แสดงถึงความมั่นใจ เพราะเสียงของพวกเขาทุกคนได้รับการฟังอย่างตั้งใจ
          ไม่ใช่แค่ความเคารพระหว่างครูกับนักเรียนเท่านั้น แต่นักเรียนยังเคารพซึ่งกันและกัน ยอมรับในความแตกต่างของเพื่อนอย่างเข้าอกเข้าใจ รวมถึงการมีความสามารถในการทำงานร่วมกันเป็นทีม

5. ทุกคนมีความรับผิดชอบต่อการเรียนรู้ของตัวเอง
          ห้องเรียนที่ดีคือ ห้องเรียนที่นักเรียนในห้องเรียนฟังคุณครู แต่การฟังและการยอมปฏิบัติตามกติกาไม่ได้มาจากการกลัวการลงโทษ หรือแรงกระตุ้นเชิงลบ ในทางกลับกันนั้น นักเรียนได้รับการส่งเสริมให้มีความเข้าใจในความสำคัญของการประพฤติตัวที่ดีเพื่อผลดีที่จะเกิดขึ้นต่อตนเองในระยะยาว
          ซึ่งนับเป็นหน้าที่อันสำคัญของครูในการสรรหาวิธีการที่หลากหลายที่จะกระตุ้นให้เด็กๆ เกิดความอยากเรียนรู้และมุ่งสู่เป้าหมายของความสำเร็จในอนาคตของเขา


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น