วันพุธที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

แนวทางการนำหลักสูตรสู่ความสำเร็จ

แนวทางการนำหลักสูตรสู่ความสำเร็จ

แนวทาง  การนำหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2251  ไปใช้อย่างมีประสิทธิผล 
 หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช ๒๕๕๑
          หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช ๒๕๕๑ ปรับปรุงและพัฒนาจากหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช ๒๕๔๔ เพื่อแก้ไขปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นในการใช้หลักสูตรที่ผ่านมาและเพื่อช่วยให้การจัดทำหลักสูตรสถานศึกษา และการจัดการเรียนการสอนในชั้นเรียนมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช ๒๕๕๑ ยึดหลักการและแนวคิดสำคัญคือ มีมาตรฐานการเรียนรู้เป็นเป้าหมายในการพัฒนาผู้เรีย (Standards-based curriculum)โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานมีบทบาทหน้าที่ในการกำหนดมาตรฐานการเรียนรู้ขึ้น มาตรฐานการเรียนรู้มีความสำคัญสำหรับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเช่นเดียวกับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช ๒๕๔๔ แต่กำหนดตัวชี้วัด สาระการเรียนรู้แกนกลาง เพื่อให้ชัดเจนและสะดวกในการจัดการเรียนการสอนและประเมินผลการเรียนรู้
ใครคือผู้ได้ประโยชน์จากหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช2551
1.      ผู้เรียน - มาตรฐานการเรียนรู้ช่วยให้ผู้เรียนทราบถึงสิ่งที่ตนต้องรู้และปฏิบัติได้ รวมทั้งณะสำคัญ ซึ่งเป็นสิ่งท้าทาย กระตุ้นให้ผู้เรียนมีความพยายามที่จะก้าวไปให้ถึงจุดนั้น
2.      ผู้สอน - มาตรฐานการเรียนรู้เป็นกรอบและแนวทางในการสร้างหลักสูตร ออกแบบการเรียนการสอนและการประเมินผล ทำให้ทราบว่าอะไรเป็นสิ่งสำคัญที่นักเรียน ควรจะรู้ และปฎิบัติได้
3.      ชุมชน ท้องถิ่น และระดับชาติ- มาตรฐานการเรียนรู้เป็นความคาดหวังทางการศึกษาที่ตั้งไว้ร่วมกัน ช่วยให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องสื่อสารเข้าใจตรงกันเกี่ยวกับหลักสูตร ทำให้บุคคลและ ส่วนต่างๆในระบบการศึกษาทำงานร่วมกันในการวางแผนพัฒนาการศึกษาให้มีประสิทธิภาพและมีทิศทางที่ชัดเจนยิ่งขึ้น
ด้วยเหตุนี้ในการจัดทำ หลักสูตรการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาผู้เรียนไปสู่มาตรฐาน ครูผู้สอนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดทำ หลักสูตร จำ เป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจเรื่องมาตรฐานและกระบวนการพัฒนาหลักสูตรอิงมาตรฐานเป็นอย่างดี

  ลักษณะสำคัญของหลักสูตรอิงมาตรฐาน  
          การกำหนดมาตรฐานการเรียนรู้เพื่อเป็นเป้าหมายในการพัฒนาการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญ
แต่มาตรฐานการเรียนรู้จะไม่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆได้เลย หากไม่มีการเชื่อมโยงมาตรฐานไปสู่
          การปฏิบัติอย่างจริงจัง การสร้างหลักสูตรที่สัมพันธ์หรืออิงกับมาตรฐานการเรียนรู้อย่างชัดเจน จะช่วยพัฒนาให้ผู้เรียนมีความรู้และทักษะที่จำเป็น (Carr J.F. & Harris D.E., 2001, Codd, J., Gordon, L. & Harker,R, 1990) ในการจัดทำหลักสูตรและจัดการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาผู้เรียนไปสู่มาตรฐาน ครูผู้สอนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดทำหลักสูตร จำเป็นต้องเข้าใจแนวคิด หลักการ และแนวปฏิบัติของหลักสูตรอิงมาตรฐานซึ่งมีลักษณะที่สำคัญ คือ
มาตรฐานเป็นจุดเน้นของการพัฒนาหลักสูตรในทุกระดับ 
          ในระบบการศึกษาที่มีมาตรฐานเป็นเป้าหมายนั้น กระบวนการพัฒนาหลักสูตรตลอดแนวตั้งแต่ระดับชาติ ระดับท้องถิ่น ระดับสถานศึกษา ตลอดจนถึงระดับชั้นเรียนจะต้องเน้นและยึดมาตรฐานการเรียนรู้ เป็นหลักและเป้าหมายสำคัญ นักการศึกษา และนักพัฒนาหลักสูตรในยุคปัจจุบันเชื่อว่า การนำมาตรฐานการเรียนรู้ไปสู่หลักสูตรสถานศึกษา และการเรียนการสอนในชั้นเรียนเป็นเรื่องที่ สำคัญที่สุด
          เพราะเป็นขั้นตอนของการนำสิ่งที่คาดหวังในระดับชาติ ไปก่อให้เกิดผลในการพัฒนาผู้เรียน ดังนั้นการจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอนให้เชื่อมโยงกับมาตรฐาน จึงเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายควรให้ความสนใจอย่างจริงจัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักสูตรสถานศึกษาและการจัดการเรียนการสอนใน ชั้นเรียนนั้น มีผลโดยตรงต่อผู้เรียน จำเป็นที่ครูผู้สอนต้องเอาใจใส่เป็นพิเศษว่าเป้าหมาย กิจกรรมการเรียนการสอนสื่อการเรียนการสอน หรือวิธีการประเมินผล เชื่อมโยงสัมพันธ์กับมาตรฐานการเรียนรู้หรือไม่เพียงไร
 . องค์ประกอบของหลักสูตรเชื่อมโยงกับมาตรฐาน  
          นักการศึกษาและนักพัฒนาหลักสูตรในยุคปัจจุบันเชื่อว่า การนำมาตรฐานการเรียนรู้ไปสู่หลักสูตร สถานศึกษาและการเรียนการสอนในชั้นเรียนเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด เพราะเป็นขั้นตอนของการนำสิ่งที่คาดหวังในระดับชาติ ไปก่อให้เกิดผลในการพัฒนาผู้เรียน ดังนั้นการจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอนให้เชื่อมโยงกับมาตรฐาน ทุกองค์ประกอบของหลักสูตรไม่ว่าจะเป็นเนื้อหาสาระที่สอน กิจกรรมการเรียนรู้ ชิ้นงาน/ภาระงานที่ผู้เรียนต้องปฏิบัติ เกณฑ์การวัดและประเมินผล สื่อการเรียนรู้ ต้องเชื่อมโยงสะท้อนสิ่งที่ต้องการพัฒนาผู้เรียนที่ระบุไว้ในมาตรฐานการเรียนรู้ ในการออกแบบหลักสูตรและจัดการเรียนการสอนที่มีคุณภาพ ผู้เกี่ยวข้องและครูผู้สอนต้องวิเคราะห์คำสำคัญ (Key word) ว่ามาตรฐานและตัวชี้วัดนั้นระบุว่านักเรียนควรรู้อะไร และทำอะไรได้ หรือต้องการให้ผู้เรียนมีคุณลักษณะ เจตคติ คุณธรรมจริยธรรมอะไร ข้อมูลจากการวิเคราะห์นี้จะเป็นข้อมูลสำคัญในการกำหนดองค์ประกอบของหลักสูตรดังกล่าวต่อไป
 . หน่วยการเรียนรู้คือหัวใจของหลักสูตร  
          การออกแบบหน่วยการเรียนรู้ (Unit of learning) ถือเป็นขั้นตอนที่สำคัญของการจัดทำหลักสูตรอิงมาตรฐาน เพราะหน่วยการเรียนรู้จะมีรายละเอียดของเนื้อหา กิจกรรมการเรียนการสอน สื่อการเรียนการวัดและประเมินผล ซึ่งจะนำมาตรฐานไปสู่การปฏิบัติในในการจัดการเรียนการสอนใน ชั้นเรียนอย่างแท้จริง ปรัชญาการศึกษาในยุคที่ผ่านมานั้นมักจะเน้นการสอนเนื้อหาสาระ ดังนั้นรูปแบบหลักสูตรการเรียนการสอนในยุคก่อนจึงมีลักษณะเป็นหลักสูตรอิงเนื้อหา (Content-based curriculum) การวัดประเมินผลในหลักสูตรรูปแบบนี้ก็เน้นที่การจดจำเนื้อหาให้ได้มากที่สุด และเกณฑ์การวัดประเมินผลก็กำหนดเป็นจุดประสงค์เชิงพฤติกรรม (Behavioral Objectives) การจัดทำหลักสูตรลักษณะนี้ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้เนื้อหา และการท่องจำหลักสูตรแบบอิงมาตรฐานเน้นการออกแบบหน่วยการเรียนรู้ที่มีมาตรฐานเป็นเป้าหมาย(Standards-based unit)มีการกำหนดแก่นเรื่องของหน่วย (Theme) ซึ่งเอื้อต่อการหลอมรวมเนื้อหาของศาสตร์สาขาต่างๆ เข้าด้วยกันเป็นหน่วยการเรียนรู้บูรณาการ และกำหนดงานให้ผู้เรียนปฏิบัติเพื่อฝึกฝนและเป็นร่องรอยสำหรับประเมินว่าผู้เรียนมีความรู้ความสามารถถึงระดับที่กำหนดไว้เป็นมาตรฐานหรือไม่ ดังนั้นมาตรฐานที่เป็นเป้าหมายในแต่ละหน่วยการเรียนรู้อาจมีได้หลายมาตรฐาน และอาจมาจากหลากหลายสาขาวิชา และอาจมีทั้งมาตรฐานที่เป็นเนื้อหา มาตรฐานที่เน้นทักษะกระบวนการ (Carr, J.F. & Harris,D.E., 2001) การจัดการเรียนรู้เป็นหน่วยลักษณะนี้ เนื้อหาสาระ และกิจกรรมจึงเป็นเพียงหนทาง(means) ที่จะนำพาผู้เรียนไปถึงหลักชัย (Ends) คือมาตรฐานการเรียนรู้/ตัวชี้วัด ผู้เรียนอาจบรรลุถึงมาตรฐานเดียวกันด้วยเนื้อหาและวิธีการที่แตกต่างกันได้ นักวิชาการ และนักพัฒนาหลักสูตรในยุคปัจจุบันเชื่อว่าหลักสูตรลักษณะนี้สอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียนและท้องถิ่นอย่างแท้จริง 
 . กระบวนการ และขั้นตอนการจัดทำหลักสูตรมีความยืดหยุ่น  
          ในการออกแบบหลักสูตรการเรียนการสอนอิงมาตรฐานนั้น สามารถทำได้หลายรูปแบบเพื่อพัฒนาผู้เรียนให้บรรลุถึงเป้าหมายเดียวกัน มิได้มีการกำหนดหรือจัดลำดับขั้นตอนที่แน่นอนตายตัวขึ้นอยู่กับเหตุผล วัตถุประสงค์ และความจำเป็นของแต่ละบริบท (Carr J.F. & Harris D.E., 2001;Solomon, P.G. ,1998) เช่น อาจเริ่มต้นจากการวิเคราะห์มาตรฐานการเรียนรู้ หรืออาจเริ่มจากการกำหนดหัวข้อ/ประเด็นปัญหาที่น่าสนใจ หรือเริ่มจากบทเรียนที่มีอยู่เดิมแล้ว โดยเชื่อมโยงหัวข้อหรือบทเรียนนั้นๆว่าสอดคล้องกับมาตรฐานการเรียนรู้ใดบ้าง อย่างไรก็ตาม รูปแบบที่เป็นที่รู้จักและใช้อย่างแพร่หลายที่สุดคือ
          การออกแบบย้อนกลับ ( Backward design ) ซึ่งเป็นรูปแบบที่สมาพันธ์ทางการนิเทศและพัฒนาหลักสูตร (Association for Supervision and Curriculum Development) ของสหรัฐอเมริกาและผู้เชี่ยวชาญด้านหลักสูตรจำนวนมากเสนอแนะ ว่าเป็นการออกแบบหลักสูตรที่มีประสิทธิภาพในการพัฒนาผู้เรียนไปสู่มาตรฐานโดยการเอาผลลัพธ์สุดท้ายที่ต้องการคือคุณภาพผู้เรียนตามมาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัดเป็นตัวตั้งการออกแบบหลักสูตรลักษณะนี้จะเริ่มต้นจากการวิเคราะห์มาตรฐานการเรียนรู้/ตัวชี้วัดที่กำหนดเป็นเป้าหมายของหน่วยการเรียนการสอนแล้วจึงกำหนดชิ้นงานหรือภาระงานที่ต้องการให้ผู้เรียนปฏิบัติและกำหนดเกณฑ์ในการประเมินงานก่อนการกำหนดกิจกรรมการเรียนการสอน การเริ่มต้นแต่ละวิธีมีทั้งข้อดีและข้อจำกัด ครูผู้สอนจึงควรใช้วิธีการที่หลากหลายและพิจารณาตามความเหมาะสม 
 . การประเมินผลสะท้อนมาตรฐานอย่างชัดเจน  
          มาตรฐานและการประเมินผลมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด การวัดและประเมินผลถือว่าเป็นจุดที่สำคัญที่สุดขั้นตอนหนึ่งของการจัดทำหลักสูตรแบบอิงมาตรฐาน แนวคิดด้านการศึกษาในยุคปัจจุบันได้ปรับเปลี่ยนจากยุคที่เน้นพฤติกรรมนิยม (Behaviorism) ซึ่งวัดประเมินผลการเรียนรู้ตามจุดประสงค์ย่อยเป็นยุคที่ให้ความสำคัญแก่การประเมินในองค์รวมโดยเทียบเคียงกับมาตรฐานเป็นสำคัญ นักวิชาการในยุคของการปฏิรูปการศึกษาที่มีมาตรฐานเป็นเป้าหมาย ต่างมีความเห็นสอดคล้องกันว่าการจะพัฒนาคุณภาพการศึกษาได้อย่างประสบความสำเร็จนั้น มาตรฐานต้องเป็นตัวเทียบเคียง

 มาตรฐานต้องสัมพันธ์กับการวัดและประเมินผล
          การวัดและประเมินผลในหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 มี ระดับคือ 1. ระดับชั้นเรียน 2. ระดับสถานศึกษา 3. ระดับเขตพื้นที่การศึกษา  4. ระดับชาติที่สำคัญในการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ในทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นระดับชาติ ระดับท้องถิ่นหรือเขตพื้นที่การศึกษา และที่สำคัญที่สุดคือ ระดับสถานศึกษา และระดับชั้นเรียน (Solomon, P.G.,1998;Newmann F.M., Secada W.G., and Wehlage G.G.,1995 ) ดังนั้นเกณฑ์ต่างๆ หรือร่องรอยหลักฐานในการประเมินผลการเรียนจะต้องเชื่อมโยงและสะท้อนมาตรฐานการเรียนรู้อย่างชัดเจน และมีความชัดเจนในการที่จะบ่งชี้ได้ว่าผู้เรียนบรรลุถึงมาตรฐานหรือไม่ เพียงใด หากยังไม่บรรลุมีจุดใดบ้างที่จะต้องพัฒนาข้อมูลจากการประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียนนี้ นับเป็นข้อมูลสำคัญมากในการประกันคุณภาพการศึกษาเพื่อพัฒนาเยาวชนของชาติให้มีคุณภาพตามที่มุ่งหวังต่อไป

 ปัจจัยสู่ความสำเร็จ  
          การพัฒนาและใช้หลักสูตรในระบบการศึกษาที่มีมาตรฐานเป็นเป้าหมาย จะประสบความสำเร็จมากน้อยพียงใดขึ้นอยู่กับปัจจัยที่เกี่ยวข้องหลายประการ ที่สำคัญได้แก่
          ๑การมีส่วนร่วม พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๕๔๒ ได้มุ่งเน้นการกระจายอำนาจและการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา โดยให้หน่วยงานต่างๆ ทุกระดับ ทั้งระดับชาติเขตพื้นที่การศึกษา สถานศึกษา ตลอดจนชุมชนและผู้เกี่ยวข้อง ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาและการพัฒนาหลักสูตร ดังนั้นการจัดศึกษาขั้นพื้นฐานให้บรรลุจุดมุ่งหมายได้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาหลักสูตรทุกระดับ ต้องมีการประสานสัมพันธ์และความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งรวมถีงภาคธุรกิจเอกชน บิดามารดา ผู้ปกครอง และบุคคลในชุมชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การพัฒนาและใช้หลักสูตรเป็นไปอย่างมีคุณภาพและประสิทธิภาพ
          ๒มุ่งสู่เป้าหมายเดียวกัน: มาตรฐานการเรียนรู้เป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงเป้าหมาย หรือความคาดหวังทางการศึกษาที่ต้องการให้เกิดในตัวผู้เรียนทุกคน ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องยึดเป้าหมายเดียวกัน คือการพัฒนาผู้เรียนไปสู่มาตรฐานการเรียนรู้ ดังนั้น การกำหนดนโยบาย และการดำเนินงานต่างๆของหน่วยงานทางการศึกษาทั้งในระดับชาติ ระดับท้องถิ่น และระดับสถานศึกษาต้องตระหนักและมุ่งไปในสิ่งเหล่านี้จะช่วยให้การจัดการศึกษามีความชัดเจนและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
          ๓. การบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพการจัดหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานจะประสบความสำเร็จต้องมีการบริหารจัดการที่ดี มีการวางแผน และดำเนินงานอย่างเป็นระบบ ต่อเนื่อง และมีการส่งเสริมสนับสนุน ทั้งด้านงบประมาณ ทรัพยากร บุคลากร ตลอดจนมีการพัฒนาศักยภาพผู้เกี่ยวข้อง เพราะสิ่งเหล่านี้จะส่งผลต่อประสิทธิภาพในการดำเนินงานในการพัฒนาเยาวชนของชาติไปสู่คุณภาพตามมาตรฐานการเรียนรู้ที่กำหนดไว้
          ๔การมีระบบกำกับตรวจสอบคุณภาพที่ดีการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นรากฐานของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ จึงนับเป็นภารกิจที่สำคัญยิ่งจำเป็นต้องมีระบบกำกับติดตามคุณภาพของการจัดการศึกษา เพื่อให้มั่นใจว่าผู้เรียนมีความก้าวหน้าในการเรียนรู้และบรรลุคุณภาพตามมาตรฐานที่กำหนด รวมทั้งต้องมีกิจกรรมที่ชัดเจนถึงการดำรงรักษามาตรฐานอย่างต่อเนื่องในทุกระดับ จะต้องมีการรายงานผลการตรวจสอบคุณภาพสู่สาธารณะ และผู้ที่เกี่ยวข้องได้ทราบ ตลอดจนมีการนำผลการตรวจสอบประเมินคุณภาพไปเป็นข้อมูลในการปรับปรุงการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณภาพตามที่คาดหวังไว้ต่อไป

หลักสูตรแกนกลาง
ความหมายของหลักสูตรแกนกลาง  
          หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นหลักสูตรที่ใช้ในการจัดการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาผู้เรียนในระดับการศึกษาที่ต่ำกว่าอุดมศึกษา โดยมุ่งหวังให้ผู้เรียนมีความสมบูรณ์ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และสติปัญญา อีกทั้งมีความรู้และทักษะที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิต และมีคุณภาพได้มาตรฐานสากลเพื่อการแข่งขันในยุคปัจจุบัน หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานประกอบด้วยส่วนสำคัญ คือ หลักสูตรแกนกลาง ส่วนที่เกี่ยวข้องกับสภาพชุมชนและท้องถิ่น และส่วนที่สถานศึกษาพัฒนาเพิ่มเติมให้สอดคล้องกับความต้องการของตนเอง
          ๑) หลักสูตรแกนกลาง เป็นหลักสูตรในส่วนที่กำหนดโดยหน่วยงานส่วนกลาง (สพฐ.)
เพื่อให้ทุกโรงเรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ใช้ในการจัดการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาผู้เรียนทุกคนหลักสูตรแกนกลางระบุสิ่งที่จำเป็นสำหรับพัฒนาเยาวชนไทยทุกคนให้เป็นพลเมืองดีของชาติ และสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุข ก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม ความเจริญทางวิทยาการในโลกยุคปัจจุบัน องค์ประกอบสำคัญของหลักสูตรแกนกลาง ได้แก่ วิสัยทัศน์ หลักการจุดหมาย สมรรถนะสำคัญของผู้เรียน คุณลักษณะอันพึงประสงค์ มาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัดสาระการเรียนรู้แกนกลาง โครงสร้างเวลาเรียนพื้นฐาน และเกณฑ์การวัดประเมินผลกลาง
          ๒) ส่วนที่เกี่ยวข้องกับสภาพชุมชนและท้องถิ่น จัดทำโดยสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา หรือหน่วยงานที่รับผิดชอบระดับท้องถิ่น ซึ่งหน่วยงานดังกล่าวต้องเป็นหลักในการประสานความร่วมมือระหว่างโรงเรียนและชุมชน ในการจัดทำเอกกรอบหลักสูตรระดับท้องถิ่น ซึ่งมีข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับเป้าหมาย/จุดเน้นในการพัฒนาผู้เรียนในท้องถิ่น สาระการเรียนรู้ท้องถิ่น และการประเมินคุณภาพผู้เรียนระดับท้องถิ่น ทั้งนี้ไม่จำเป็นต้องกำหนดมาตรฐานการเรียนรู้เพิ่มเติมในระดับท้องถิ่น
          ๓) ส่วนที่สถานศึกษาพัฒนาเพิ่มเติม เพื่อให้สอดคล้องเหมาะสมกับจุดเน้นของสถานศึกษาความสนใจ ความต้องการและความถนัดของผู้เรียน หรือเพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนในระดับสูงทั้งนี้ไม่จำเป็นต้องกำหนดมาตรฐานการเรียนรู้เพิ่มเติม

กระบวนการพัฒนามาตรฐานการเรียนรู้และหลักสูตรแกนกลาง  
          การพัฒนามาตรฐานการเรียนรู้และหลักสูตรแกนกลาง (core curriculum)เป็นหน้าที่รับผิดชอบของ สพฐ.ตาม พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติซึ่งได้ระบุในมาตรา ๒๗ ให้คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานกำหนดหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อความเป็นไทย ความเป็นพลเมืองดีของชาติ การดำรงชีวิต และการประกอบอาชีพ ตลอดจนเพื่อการศึกษาต่อ หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานนับเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง เพราะใช้เป็นกรอบทิศทางในการพัฒนาเยาวชนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานของชาติ สถานศึกษาในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานทุกแห่งในประเทศ ไม่ว่าจะอยู่แห่งใด ภูมิภาคใด หรือไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ จะต้องใช้หลักสูตรแกนกลางในการจัดการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาผู้เรียนไปสู่มาตรฐานการเรียนรู้ ตามที่กำหนดในหลักสูตร ดังนั้นการพัฒนามาตรฐานการเรียนรู้และหลักสูตรแกนกลางจึงเป็นกระบวนการที่สำคัญ ต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ บนฐานข้อมูลที่ชัดเจน โดยมีลำดับขั้นตอนในการดำเนินการสำคัญดังนี้
          ๑) ศึกษาผลการวิจัยและติดตามการใช้หลักสูตร แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม วิทยาการต่างๆในประเทศ และในโลกยุคปัจจุบัน รวมทั้งแนวโน้มในการเปลี่ยนแปลงในอนาคต เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานสำคัญในการปรับปรุงหลักสูตรทั้งมาตรฐานการเรียนรู้ ที่เป็นเป้าหมายคุณภาพของผู้เรียน โครงสร้างเวลาเรียน เนื้อหา และการวัดประเมินผลการเรียนรู้ให้เหมาะสมและทันต่อการเปลี่ยนแปลง
          ๒) ดำเนินการปรับปรุงและพัฒนาหลักสูตรแกนกลาง แต่งตั้งคณะกรรมการ/คณะทำงานปรับปรุงพัฒนาหลักสูตร คณะกรรมการ/คณะทำงานดังกล่าวประกอบด้วยบุคคลจากหลายฝ่ายครอบคลุมทั้งผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญด้านเนื้อหา นักการศึกษา นักจิตวิทยาการเรียนรู้ ผู้บริหาร และครูผู้สอน เพื่อให้เกิดความคิดมุมมองที่หลากหลายและรอบด้าน
          ๓) รับฟังความคิดเห็นผู้เกี่ยวข้อง ในกระบวนการพัฒนาหลักสูตรนั้น เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนได้เข้ามามีบทบาท และมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นในการพัฒนาหลักสูตรแกนกลางซึ่งเป็นเป้าหมายและกรอบทิศทางในการพัฒนาเยาชนของชาติ
          ๔) นำร่างหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน เสนอคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ และเสนอกระทรวงศึกษาธิการเพื่อประกาศใช้หลักสูตร
          ๕) นำ หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานสู่การปฏิบัติ ในระดับท้องถิ่นและสถานศึกษา
          ๖) วิจัย ติดตามผลการใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน การพัฒนาหลักสูตรเป็นกระบวนการที่ไม่หยุดนิ่ง (Dynamic) จำเป็นต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้ทันต่อความก้าวหน้า และความเปลี่ยนแปลงทางวิทยาการและสังคม

การบริหารจัดการหลักสูตรระดับเขตพื้นที่ (ระดับท้องถิ่น)  
          ในระบบการศึกษาที่มีการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นและสถานศึกษามีบทบาทในการพัฒนาหลักสูตรนั้น สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา หรือหน่วยงานต้นสังกัดอื่น ๆ ในระดับท้องถิ่นเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการเชื่อมโยงหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน และความต้องการของท้องถิ่น สู่การพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาและการจัดการเรียนการสอนในชั้นเรียน อีกทั้งเป็นหน่วยงานที่มีภารกิจหลักในการขับเคลื่อนการจัดการศึกษาของโรงเรียนภายใต้การดูแลรับผิดชอบในเขตพื้นที่ ให้จัดการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพและประสิทธิภาพ เพื่อพัฒนาผู้เรียนไปสู่มาตรฐานการเรียนรู้ซึ่งเป็นเป้าหมายที่กำหนดไว้ร่วมกันในระดับชาติ ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานนอกจากนั้น จะต้องปลูกฝังให้ผู้เรียนเป็นสมาชิกที่ดีของชุมชน มีความรักความภาคภูมิใจในบ้านเกิดเมืองนอนและท้องถิ่นของตนเพื่อให้การจัดการศึกษาภายในท้องถิ่นบรรลุผลดังกล่าว สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา/หน่วยงานระดับท้องถิ่นจะต้องจัดทำกรอบหลักสูตรระดับท้องถิ่น สำหรับสถานศึกษาใช้เป็นแนวทางในการจัดการเรียนการสอนในเรื่องเกี่ยวกับชุมชน ท้องถิ่น โดยดำเนินการให้ฝ่ายต่างๆ อาทิ โรงเรียนผู้ปกครอง ปราชญ์ในท้องถิ่น นักธุรกิจในชุมชน ได้มีส่วนร่วมในกระบวนการจัดทำกรอบหลักสูตรดังกล่าว เพื่อให้ได้แนวคิด มุมมองที่หลากหลาย ครอบคลุมเรื่องสำคัญที่ผู้เรียนในท้องถิ่นควรเรียนรู้และมีความสอดคล้องกับสภาพ ปัญหา และความต้องการของท้องถิ่นอย่างแท้จริงนอกจากนั้น เขตพื้นที่การศึกษาจะต้องส่งเสริม สนับสนุนและช่วยเหลือสถานศึกษาภายในเขตพื้นที่ให้สามารถจัดทำหลักสูตรสถานศึกษาได้อย่างมีคุณภาพ ตลอดจนช่วยพัฒนาผู้บริหารสถานศึกษาให้มีวิสัยทัศน์และเป็นผู้นำทางวิชาการ พัฒนาครูผู้สอนให้มีความรู้ความเข้าใจเรื่องการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา และสามารถจัดการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเพื่อให้ชุมชนและผู้ปกครองเกิดความมั่นใจว่าลูกหลานของตนได้รับการศึกษาที่ดี เขตพื้นที่การศึกษาและหน่วยงานระดับท้องถิ่นจะต้องจัดให้มีระบบการกำกับ ดูแล และตรวจสอบคุณภาพการจัดการศึกษาของสถานศึกษาอย่างต่อเนื่อง เป็นระยะๆ พร้อมทั้งรายงานข้อมูลย้อนกลับแก่โรงเรียนเพื่อการปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนให้ดียิ่งขึ้น 

การจัดทำกรอบหลักสูตรระดับเขตพื้นที่  (ท้องถิ่น)  
          เขตพื้นที่การศึกษามีบทบาทสำคัญในการพัฒนาหลักสูตรในส่วนที่สอดคล้องกับสภาพและความต้องการของท้องถิ่น ดังนั้นสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาจะต้องเป็นตัวกลางในการประสานความร่วมมือกับโรงเรียน และชุมชน ในการร่วมกันคิดและจัดทำกรอบหลักสูตรระดับท้องถิ่น เพื่อให้สถานศึกษาภายในเขตพื้นที่ใช้เป็นแนวทางในการจัดการเรียนการสอนในเรื่องเกี่ยวกับท้องถิ่นในแง่มุมต่างๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ฯลฯ เพื่อให้ผู้เรียนได้มีโอกาสเรียนรู้เรื่องราวของชุมชนท้องถิ่น ซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมในชีวิตจริงของตนเอง ทำให้เกิดความรักความผูกพันกับท้องถิ่น มีความภาคภูมิใจในบ้านเกิดเมืองนอน เป็นสมาชิกที่ดีของชุมชน ตลอดจนสามารถแก้ปัญหา พัฒนาชีวิตตนเอง พัฒนาอาชีพ ครอบครัว และสังคมของตนเองได้

ขั้นตอนการจัดทำกรอบหลักสูตรระดับท้องถิ่น  
          ๑. แต่งตั้งคณะกรรมการ/ คณะทำงาน : คณะกรรมการชุดนี้ควรประกอบด้วย ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา/ ผู้บริหารส่วนราชการระดับท้องถิ่น ผู้บริหารสถานศึกษาในท้องถิ่นทั้งระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ครูผู้สอน ผู้แทนชุมชน เป็นต้น
          ๒. วิเคราะห์ สังเคราะห์ข้อมูลจากเอกสารและแหล่งข้อมูลต่างๆ อาทิ หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช ๒๕๕๑ รวมทั้งศึกษาสภาพ แนวโน้มการเปลี่ยนแปลง บริบทสภาพ ปัญหา ความต้องการของท้องถิ่น ชุมชน ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียนในพื้นที่ เป็นต้น
          ๓. ดำเนินการจัดทำกรอบหลักสูตรระดับท้องถิ่น : ในการดำเนินการจัดทำกรอบหลักสูตรระดับท้องถิ่นให้มีคุณภาพ จะต้องมีการวางแผนงานที่ชัดเจนเพื่อให้เห็นภาพการทำงานตลอดแนวด้วยกระบวนการทำงานแบบมีส่วนร่วม
          ๔. รับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้อง อาทิ ครูผู้สอน ผู้ปกครอง ปราชญ์ในชุมชน และหน่วยงานธุรกิจ ฯลฯ เพื่อนำข้อคิดเห็นจากฝ่ายต่างๆ มาปรับปรุงกรอบหลักสูตรให้มีความเหมาะสมชัดเจนยิ่งขึ้น
          ๔. เสนอคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษา/ คณะกรรมการระดับท้องถิ่นเพื่อให้ความเห็นชอบ 
องค์ประกอบสำคัญของกรอบหลักสูตรระดับท้องถิ่น  
          กรอบหลักสูตรระดับท้องถิ่น
          ๑. เป้าหมาย/จุดเน้น: เขตพื้นที่การศึกษา/ หน่วยงานระดับท้องถิ่น เป็นหน่วยงานสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนการจัดการศึกษาของสถานศึกษาภายในเขต/ท้องถิ่น เพื่อให้สามารถพัฒนาผู้เรียนให้บรรลุคุณภาพตามมาตรฐานการเรียนรู้ ตามหลักสูตรแกนกลาง และผู้เรียนได้มีโอกาสเรียนรู้ในเรื่อง/เกี่ยวกับชุมชน ท้องถิ่น ในการจัดการศึกษาให้บรรลุผลดังกล่าว เขตพื้นที่การศึกษาอาจกำหนเป้าหมาย/จุดเน้น ที่ต้องการให้เด่นชัดเป็นการเฉพาะ เพื่อให้สถานศึกษาได้เล็งเห็นทิศทางในการพัฒนาการศึกษาในท้องถิ่น เช่น การพัฒนาด้านการอ่านออกเขียนได้ การคิดวิเคราะห์ เป็นต้น เป้าหมาย/จุดเน้นนั้นควรกำหนดเป็นคุณภาพที่ต้องการให้เกิดขึ้นในตัวผู้เรียน มิควรกำหนดในสิ่งที่ก่อให้เกิดข้อจำกัดต่อการจัดการเรียนการสอนในระดับสถานศึกษา
       ๒. สาระการเรียนรู้ท้องถิ่น: เป็นส่วนที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับหัวข้อ/ประเด็นสำคัญที่ผู้เรียนในท้องถิ่นควรเรียนรู้หรือได้รับการปลูกฝัง ในฐานะที่เป็นสมาชิกของชุมชนนั้น เพื่อให้เกิดความรักความภาคภูมิใจ และต้องการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์สภาพแวดล้อม ภูมิปัญญาท้องถิ่น สภาพแวดล้อมในท้องถิ่น การกำหนดสาระการเรียนรู้ท้องถิ่นควรกำหนดในขอบเขตประเด็นสำคัญ พร้อมทั้งมีคำอธิบายประกอบในแต่ละประเด็นพอสังเขป เพื่อครูผู้สอนใช้เป็นแนวทางในการจัดให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ในเรื่องเกี่ยวกับท้องถิ่น เช่น ประวัติความเป็นมาของท้องถิ่น สภาพภูมิอากาศ ภูมิประเทศเศรษฐกิจ สังคม วิถีชีวิต ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น สภาพปัญหา และเหตุการณ์สำคัญในชุมชนและสังคมนั้นๆ รวมทั้งข้อมูลแนวโน้มการพัฒนาท้องถิ่น เป็นต้น
          การจัดทำสาระการเรียนรู้ท้องถิ่นอาจได้จากการวิเคราะห์ รวบรวมข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆเช่น วิเคราะห์มาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัดของกลุ่มสาระการเรียนรู้ทั้ง ๘ กลุ่มสาระตามหลักสูตรแกนกลาง ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับชุมชนและท้องถิ่น รวมทั้งข้อมูลจากการศึกษา สำรวจสภาพ ปัญหาการเปลี่ยนแปลงต่างๆที่เกิดขึ้นในสังคม/ชุมชน เพื่อนำมาสังเคราะห์จัดเป็นหมวดหมู่ เพื่อสถานศึกษาใช้เป็นแนวทางในการจัดการเรียนรู้ต่อไป

การพัฒนากรอบหลักสูตรท้องถิ่น
การส่งเสริมสนับสนุนระดับท้องถิ่น  
          การพัฒนาบุคลากร  
          การพัฒนาบุคลากร เป็นการเตรียมความพร้อมของบุคคลที่เกี่ยวข้อง เช่น ครู ผู้บริหารโรงเรียน บุคลากรทางการศึกษา ฯลฯ เพื่อช่วยส่งเสริมสนับสนุนการใช้หลักสูตรแบบอิงมาตรฐานให้ประสบความสำเร็จ การพัฒนาบุคลากรต้องจัดทำให้เป็นกระบวนการที่ต่อเนื่อง เป็นระบบ เน้นการสร้างความเข้าใจแก่ผู้บริหารโรงเรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษา ให้ปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในเป้าหมายในการพัฒนาผู้เรียน รวมทั้งการวัดและประเมินผลการเรียนรู้แบบอิงมาตรฐานการพัฒนาบุคลากรที่มีประสิทธิภาพนั้น จะต้องมีแผนปฏิบัติการที่ชัดเจน และต้องคำนึงถึงกลุ่มบุคคลที่จะพัฒนาให้สอดคล้องกับภารกิจ หน้าที่รับผิดชอบ เพื่อให้การขับเคลื่อนการพัฒนาหลักสูตรประสบความสำเร็จ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น