วันพุธที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

การศึกษาไทยยุค 4.0


การศึกษาไทยยุค 4.0
การศึกษาไทยยุค 4.0 “ห้องเรียนที่ดีต้องปฏิสัมพันธ์กัน”



จากการที่เทคโนโลยี และข้อมูลข่าวสารในโลกยุคปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และต่อเนื่อง จึงทำให้เกิดการผลิตสินค้า และบริการใหม่ ๆ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ขณะที่ประเทศไทยมีการกำหนดนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ในการคิดค้น และพัฒนาเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม เพื่อให้ไทยหลุดจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง จึงทำให้ภาครัฐ และภาคเอกชน ต่างปรับตัวให้สอดรับกับพลวัต และนโยบายที่เกิดขึ้น

ทั้งนั้น การจะนำพาประเทศไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ สิ่งสำคัญคือต้องเร่งการพัฒนา และเตรียมความพร้อมให้กับคนรุ่นใหม่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องวิทยาการคอมพิวเตอร์ การเขียนโปรแกรม การเขียนโค้ด การวิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ หรือสะเต็มศึกษา (STEM education) เป็นต้น เพื่อให้ประเทศมีทรัพยากรมุนษย์ที่มีทักษะ มีประสิทธิภาพสูง พร้อมจะพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในการรองรับการแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้นต่อไป

อักษร เอ็ดดูเคชั่น” ผู้พัฒนานวัตกรรมทางการศึกษา และออกแบบกระบวนการเรียนการสอนครบวงจร โดย “ตะวัน เทวอักษร” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อักษร เอ็ดดูเคชั่น จำกัด (มหาชน) จึงเปิดเผยถึงเทรนด์การศึกษาไทยในยุค 4.0 และแนวคิดห้องเรียนที่ดีในยุคที่เทคโนโลยีมีความก้าวหน้า พร้อมทั้งการเตรียมการจัดงานสัมมนาวิชาการประจำปี “Aksorn Teaching Forum 2018” ภายใต้แนวคิด “อนาคตเด็กไทยสร้างได้ ด้วยผู้บริหารและครูมืออาชีพ”




เบื้องต้น “ตะวัน” กล่าวว่า เนื่องจากเทคโนโลยี ข้อมูลข่าวสารที่มีอยู่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้การเรียนรู้ในปัจจุบันจำเป็นต้องสร้างพื้นฐานทักษะความรู้ ความเข้าใจในมิติใหม่ ๆ ให้กับเด็กไทย โดยเฉพาะทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ทั้งความสามารถในการคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ การมีทักษะในการสื่อสารที่ดี การทำงานร่วมกับผู้อื่น ตลอดจนการคิด การสร้างสรรค์ เพื่อทำให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมในรูปแบบสินค้าหรือบริการใหม่ ๆ


ถ้าหากย้อนดูกระแสที่ว่าหุ่นยนต์จะเข้ามาแทนที่แรงงาน หรือการทำงานของมนุษย์นั้น ผมเชื่อว่าถ้าหากเด็กรุ่นใหม่มีทักษะมีความสามารถที่กล่าวมาข้างต้น หุ่นยนต์จะไม่สามารถทำงานแทนได้ แม้ว่างานบางอย่างหุ่นยนต์จะสามารถทำได้แม่นยำ และมีประสิทธิภาพมากกว่ามนุษย์ แต่งานที่จำเป็นต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ การคิดค้นสิ่งใหม่ ๆ อาจจะยังแทนที่ไม่ได้ ฉะนั้น ตรงนี้จึงเป็นโจทย์สำคัญของระบบการศึกษาไทย ในการพัฒนาคนให้มีทักษะการเรียนรู้สมัยใหม่ โดยเฉพาะในโรงเรียน ในห้องเรียน”

การจะทำให้ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 เกิดขึ้นจริงนั้น ผมมองว่าห้องเรียนที่ดีต้องมีการปฏิสัมพันธ์ พูดคุยกันเป็นอย่างมาก เนื่องจากในโลกการทำงานจริง เราจำเป็นต้องอาศัยการพูดคุย การระดมสมองอยู่ตลอดเวลา เพื่อคิดค้น หรือพัฒนาสินค้าบริการใหม่ ตลอดจนแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะจะว่าไป ทักษะที่จำเป็นสำหรับเด็กรุ่นใหม่ ทำให้รูปแบบการสอนของครูเปลี่ยนไป จากห้องเรียนสี่เหลี่ยมที่มีคุณครูยืนสอนอยู่หน้าชั้น เด็กนักเรียนนั่งเป็นแถวคอยจดบันทึก มาเป็นรูปแบบของกระบวนการเรียนการสอนที่มุ่งสร้างปฏิสัมพันธ์กันในห้องเรียนระหว่างครูผู้สอนและนักเรียน”

เราเชื่อว่าคุณภาพของผู้เรียนเกิดขึ้นจากกระบวนการเรียนการสอนที่ดี ครูผู้สอนทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการเรียนรู้แลกเปลี่ยนความคิดซึ่งกันและกัน และการมีเนื้อหา และสื่อการเรียนรู้ที่ดีที่จะช่วยเสริมให้ผู้เรียนมีความพร้อมสำหรับโลกยุคใหม่ กระทั่งต่อยอดไปสู่การเรียนรู้ตลอดชีวิต”

ตะวัน” กล่าวเพิ่มเติมว่า หากยกตัวอย่างกระบวนการสอนที่ดี สิ่งสำคัญคือครูต้องเป็นผู้ชวน หรือเปิดประเด็นให้นักเรียนได้ร่วมกันระดมสมอง ช่วยกันค้นคว้า แลกเปลี่ยน เพื่อคิดแก้ไขปัญหาหรือโจทย์ที่ครูตั้งขึ้น และครูเองต้องเป็นผู้ให้คำแนะนำ คำชี้แนะต่าง ๆ จนได้ผลการศึกษา ผลการทดลอง เพื่อนักเรียนจะได้มานำเสนอให้เพื่อน ๆ ในชั้นเรียนฟัง

ตรงนี้ทำให้เห็นว่าห้องเรียนจึงไม่จำเป็นต้องมีเทคโนโลยีที่สมบูรณ์แบบ เพียงแต่ต้องมีกระบวนการเรียนรู้ที่สร้างทักษะใหม่ ๆ โดยครูต้องตั้งคำถาม ถามให้เยอะขึ้น และนักเรียนพูดคุย เสนอแนะให้มากขึ้น เพื่อให้เกิดการปฏิสัมพันธ์ให้มากขึ้น ซึ่งสิ่งที่จะตามมาคือทำให้เด็กเกิดทักษะสมัยใหม่ระหว่างการเรียน”

ด้วยวิธีการแบบนี้ ผมเชื่อจะทำให้ห้องเรียนสมัยใหม่เกิดขึ้นจริงในทุกโรงเรียนทั่วประเทศไทย แม้ในโรงเรียนที่ขาดแคลนเรื่องของทรัพยากร การเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ตรงนี้อาจไม่ใช่คำตอบทั้งหมด ซึ่งจากประเทศที่ติดอันดับด้านคุณภาพการศึกษาระดับโลกนั้น ตัวเลขการเข้าถึงเทคโนโลยีไม่ได้ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้เรียนมีผลการเรียนที่ดีขึ้นหรือแย่ลงเลย ฉะนั้น การเข้าถึงเทคโนโลยีอาจเป็นเพียงแค่ส่วนประกอบหนึ่ง เพราะส่วนสำคัญคือเรื่องการออกแบบกระบวนการเรียนการสอนในห้องเรียนมากกว่า”

ถึงตรงนี้ “ตะวัน” บอกว่า เพื่อให้ครู ซึ่งเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการออกแบบกระบวนการเรียนการสอน สามารถทำให้ห้องเรียนที่ดีเกิดขึ้นได้จริงในโรงเรียน อักษร เอ็ดดูเคชั่น จึงจัดให้มีการอบรมสัมมนาในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อจุดประกาย และสร้างแรงบันดาลใจให้กับครูผู้สอน เพื่อนำประสบการณ์ รูปแบบการสอนที่ดีส่งต่อไปยังนักเรียนได้อย่างมั่นใจ

และช่วงปลายปีนี้เรายังร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ จัดโครงการสัมมนาวิชาการเชิงปฏิบัติการ การบูรณาการองค์ความรู้ และการจัดการเรียนการสอนเชิงรุกสำหรับผู้เรียนศตวรรษที่ 21 หรือ “Aksorn Teaching Forum 2018” ภายใต้แนวคิด “อนาคตเด็กไทยสร้างได้ ด้วยผู้บริหารและครูมืออาชีพ” ที่มีจะมีนักคิด ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาระดับโลกและไทยมาร่วมกันแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการยกระดับคุณภาพการศึกษาไทยอย่างทั่วถึง ซึ่งจะแบ่งเป็นโครงการสัมมนาวิชาการเชิงปฏิบัติ 6 โครงการ”

ไฮไลต์ของการจัดงานในปีนี้ คือ โครงการสัมมนาผู้นำทางการศึกษาแห่งประเทศไทย 2561 (Thailand”s Education Leader Symposium หรือ TELS 2018) ภายใต้แนวคิด “เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน แนวโน้มคุณภาพการศึกษาสำหรับทุกคน” ที่ผู้บริหารสถานศึกษาจะได้พบกับนักคิดทางการศึกษาระดับโลกอย่างหลากหลายท่าน ทั้งผู้อำนวยการฝ่ายการศึกษาและทักษะ องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาเด็กสถาบันการศึกษาแห่งชาติ สถาบันครูแห่งเดียวในสิงคโปร์ เป็นต้น”

เพราะผมฝันว่าอยากจะสร้างห้องเรียนทั่วประเทศให้เต็มไปด้วยพลังแห่งความอยากรู้อยากเห็น ครูผู้สอนเกิดแรงบันดาลใจ จนสามารถถ่ายทอดประสบการณ์ความรู้ไปสู่ผู้เรียน ด้วยการปฏิสัมพันธ์ระหว่างครู และนักเรียนได้อย่างเต็มที่"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น