ระบบการสอนของบราวน์และคณะ
(Brown,
and Ohters)
ระบบการสอนของบราวน์และคณะเป็นระบบการสอนที่จัดให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางในการเรียนการสอน
โดยการพิจารณาแนวทางและวิธีการเรียนรู้ของผู้เรียนแต่ละคน เพื่อที่ผู้สอนจะได้สามารถจัดการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับความต้องการ ความสามารถ
และความสนใจของ
ผู้เรียนโดยในการออกแบบระบบการสอนนี้
บราวน์และคณะได้ทำการวิเคราะห์ระบบการสอนโดยแบ่งเป็น 4 หัวข้อใหญ่ ในแต่ละหัวข้อจะแบ่งเป็นขั้นตอนต่าง ๆ ดังนี้คือ
จุดมุ่งหมาย (Goals) ในการเรียนการสอนนี้มีจุดมุ่งหมายอะไรบ้างที่จะต้องการให้บรรลุผลสำเร็จ โดยผู้สอนต้องมีการกำหนดวัตถุประสงค์และเนื้อหาให้สอดคล้องกับจุดมุ่งหมายที่ตั้งไว้
1. วัตถุประสงค์และเนื้อหา (Objectives and Content) เป็นสิ่งแรกที่ผู้สอนต้องกำหนดให้
แน่นอนว่าเมื่อเรียนบทเรียนนั้นแล้วผู้เรียนจะบรรลุถึงวัตถุประสงค์อะไรบ้าง ซึ่งจะต้องเป็น วัตถุ ประสงค์เชิงพฤติกรรมที่สามารถวัดหรือสังเกตได้
เมื่อมีการกำหนดวัตถุประสงค์ของการเรียนแล้วต้องมีการเลือกเนื้อหาบทเรียนให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้นั้น เพื่อให้ผู้เรียนเรียนแล้วสามารถเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อผลของการเรียนรู้ที่กำหนดไว้
สภาพการณ์
(Conditions) ผู้สอนควรจัดสภาพการณ์อย่างไรและควรมีอะไรบ้าง
เพื่อให้ผู้เรียนสามารถเรียนอย่างได้ผลดีเพื่อบรรลุตามจุดมุ่งหมายที่ตั้งไว้ ในการนี้ต้องมีการเลือก ประสบการณ์ ที่เหมาะสมแก่ผู้เรียนโดยเน้นถึงสภาพความแตกต่างระหว่างบุคคลเพื่อการจัดรูปแบบหรือวิธีการสอนที่เหมาะสม
1. การจัดประสบการณ์การเรียน (Learning
Experiences)
เป็นการจัดประสบการณ์ในรูปลักษณะกิจกรรมการเรียนต่าง ๆ
เพื่อนำไปสู่การเรียนรู้
ในขั้นนี้ผู้สอนจึงต้องเลือกประสบการณ์การเรียนรู้ที่ดีที่สุดสำหรับผู้เรียนแต่ละคน
ประสบการณ์ที่นำไปสู่การเรียนรู้แบ่งได้เป็นหลาย รูปแบบ เช่น การฝึกให้คิด
การอภิปราย การเขียน การอ่าน การฟัง ฯลฯ
เป็นต้น
2. การจัดรูปแบบการเรียนการสอน (Teaching-Learning
Modes) เป็นการจัดเพื่อให้
ผู้เรียนสามารถได้รับประสบการณ์การเรียนรู้ที่ดีที่สุด
การจัดนี้ต้องคำนึงถึงขนาดของผู้เรียน วัตถุ ประสงค์ เชิงพฤติกรรม และเนื้อหาบทเรียนด้วย
การจัดรูปแบบการเรียนการสอนนี้สามารถจัดทำได้โดยการจัดห้องตามขนาดของกลุ่มผู้เรียน โดยถ้าเป็นผู้เรียนกลุ่มใหญ่ ผู้สอนมักใช้วิธีการบรรยายในห้องเรียนใหญ่
ถ้ากลุ่มผู้เรียนมีขนาดกลางหรือกลุ่มเล็กก็ใช้การบรรยายโดยมีการ ซักถามโต้ตอบกัน และควรมีการใช้สื่อการสอนร่วมด้วย
แต่ถ้ามีผู้เรียนเพียงคนเดียวจะใช้การศึกษารายบุคคลในลักษณะของการใช้สื่อประสม
ทรัพยากรหรือแหล่งวิชาการ (Resources)
ผู้สอนควรจะต้องทราบมีแหล่งทรัพยากรหรือแหล่งวิชาการใดบ้างที่จำเป็นและสามารถนำมาใช้เพื่อการจัดประสบการณ์แก่ผู้เรียนทรัพยากรนี้หมายถึงทางด้านบุคลากร การเลือกใช้วัสดุอุปกรณ์และเครื่องมือที่เหมาะสมในการสอน ตลอดจนการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกด้านกายภาพ ในการเรียนการสอนด้วย
1. บุคลากร (Personnel)
ในกระบวนการของการจัดระบบการสอนนั้นบุคลการมิได้หมายเฉพาะเพียงผู้สอนหรือผู้เรียนเท่านั้น แต่จะหมายรวมถึงบุคคลทุกคนที่มีส่วนร่วมใน กิจกรรมการเรียนการสอน ดังนั้น “ผู้สอน” จึงหมายถึงครูหรือวิทยากรผู้ถ่ายทอดความรู้ไปยัง ผู้เรียน
ผู้สอนจะต้องมีบทบาทในการใช้สื่อการสอน
เป็นผู้จัดสภาพแวดล้อมและจัดประสบการณ์การเรียนรู้แก่ผู้เรียน เป็นผู้นำการอภิปราย แนะนำสิ่งต่าง ๆ
ตลอดจนแก้ไขปัญหาแก่ผู้เรียน
และต้องมีความสัมพันธ์กับผู้สอนคนอื่น ๆ เพื่อปรึกษาหรือวางแผนการสอนและแก้ไขปัญหาต่าง
ๆ ที่เกิดขึ้นในกระบวนการเรียนการสอนเพื่อการปรับปรุงแก้ไขร่วมกัน ส่วนบทบาทของ “ผู้เรียน”
นั้น อาจเป็นผู้ช่วยในการตั้งจุดมุ่งหมายการเรียนการสอน การเตรียมกิจกรรมต่าง ๆ การใช้สื่อ
ตลอดการวัดและประเมินการเรียนการสอนด้วย
2. วัสดุอุปกรณ์และเครื่องมือ (Materials
and Equipment)
เป็นสิ่งช่วยเกื้อกูลในการที่จะจัดประสบการณ์การเรียนรู้ให้แก่ผู้เรียน
ทั้งนี้ในการเลือกใช้วัสดุอุปกรณ์และเครื่องมือในการสอนนั้น
ผู้สอนจะต้องคำนึงถึงสิ่งต่าง ๆ ต่อไปนี้
1. ความเหมาะสมกับระดับความรู้ความสามารถและประสบการณ์เดิมของผู้เรียน
2. การใช้สื่อเพื่อสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้
3. ความเหมาะสมของชนิดของสื่อกับกิจกรรมการเรียนการสอน
4. สื่อนั้นสามารถหาได้ในแหล่งวิชาการหรือในท้องถิ่นนั้น
5. ความสะดวกในการใช้
อุปกรณ์และเครื่องมือที่ใช้ในการจัดประสบการณ์ให้เกิดการเรียนการสอนบรรลุตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ สามารถแยกได้เป็นประเภทอุปกรณ์เพื่อการเรียนรู้
(equipment
for learning) เช่น เครื่องเทปบันทึกเสียง เครื่องฉายสไลด์ เครื่องฉายภาพยนตร์ โทรทัศน์ เครื่องคอมพิวเตอร์ ฯลฯ และประเภทสื่อการศึกษาเพื่อการเรียนรู้
(educational media for learning) เช่น หนังสือแบบเรียน หนังสือพิมพ์
ฟิล์มภาพยนตร์ ของจำลอง
การ์ตูน รายการวิทยุ ฯลฯ เหล่านี้เป็นต้น
3. สิ่งอำนวยความสะดวกด้านกายภาพ (Physical
Facilities) หมายถึง
การจัดสภาพห้องเรียนตามขนาดของกลุ่มผู้เรียน
เพื่อให้การจัดสภาพการณ์ในการเรียนรู้ดำเนินไปด้วยความเรียบร้อยและเหมาะสม
ตลอดจนการจัดวัสดุอุปกรณ์และสื่อการสอนเพื่อความสะดวกในการใช้ด้วย สิ่งอำนวยความสะดวกและสถานที่เหล่านี้ ได้แก่
ห้องเรียน ห้องสมุด ห้องปฏิบัติการ ห้องสื่อการศึกษา และห้องนันทนาการ เป็นต้น
ผลลัพธ์
(Outcomes)
เป็นการพิจารณาดูว่าผลลัพธ์ที่ได้มาสำเร็จตามจุดมุ่งหมายมากน้อยเพียงใด มีสิ่งใดบ้างที่จำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุง ทั้งนี้หมายถึงการประเมินและการพิจารณาเพื่อเสนอแนะในการปรับปรุงระบบการสอนให้ดีขึ้น
1.
การประเมินและการปรับปรุง (Evaluation
and Improvement)
เป็นขั้นตอนสุดท้ายใน
ระบบการสอน
เพื่อเป็นการประเมินว่าหลังจากการสอนแล้วผู้เรียนได้รับประสบการณ์การ
เรียนรู้อะไรบ้าง
และสามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมตามจุดมุ่งหมายที่ตั้งไว้บ้างหรือไม่ การประเมินจะทำให้ผู้สอนสามารถทราบได้ว่าระบบการสอนนั้นมีข้อบกพร่องอะไรบ้าง
เช่น แผนการสอน จุดมุ่งหมาย สื่อการสอน เนื้อหา
หรือแม้แต่ความพร้อมของผู้เรียนเอง
ทั้งนี้เพื่อเป็นแนวทางในการปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่องต่าง ๆ
เหล่านั้นในการสอนครั้งต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น