วันพฤหัสบดีที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

ระบบการสอนของเคมพ์ (Kemp)


ระบบการสอนของเคมพ์ (Kemp)

          เคมพ์แบ่งขั้นตอนในการพิจารณาการจัดระบบการสอนเป็นสาระสำคัญ  10 ประการคือ
1.ความต้องการในการเรียน  จุดมุ่งหมายในการสอน  สิ่งสำคัญ/ข้อจำกัด (Learning
Needs, Goals, Priorities/Constraints) การประเมินความต้องการในการเรียนนับว่ามีส่วนสำคัญในการกำหนดจุดมุ่งหมายและโปรแกรมการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับความต้องการนั้น  กล่าวได้ว่าการประเมินความต้องการ  การกำหนดจุดมุ่งหมาย และการเผชิญกับข้อจำกัดต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งสำคัญขั้นแรกในการเริ่มต้นของกระบวนการออกแบบการสอน  จึงจัดอยู่ในศูนย์กลางของระบบ  และนับว่าเป็นพื้นฐานของข้อปลีกย่อยต่าง ๆ 9 ประการในกระบวนการออกแบบระบบการสอนนี้

2.  หัวข้อเรื่อง  งาน  และจุดประสงค์ทั่วไป (Topics-Job Tasks Puroises)  ในการสอนหรือโปรแกรมของการอบรมที่จัดขึ้นนั้น  ย่อมประกอบด้วยข้อเรื่องของวิชาซึ่งเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับพื้นฐาน ความรู้ และ/หรือหัวข้องานที่เป็นพื้นฐานทางทักษะด้านกายภาพ  ตัวอย่างเช่นในวิชาเทคโนโลยีการศึกษา  ผู้สอนย่อมจะแบ่งหัวข้อเรื่องของวิชานี้ออกเป็นหัวข้อต่าง ๆ เช่น การจัดระบบ  และโทรทัศน์การศึกษา เป็นต้น หรือในวิชาช่างไฟฟ้า  ผู้สอนจะแบ่งหัวข้องานให้ผู้เรียนสามารถมีทักษะเพื่อปฏิบัติงานต่าง ๆ ทางด้านนี้ได้ เช่น การติดตั้งสายไฟและการเชื่อมต่อสายไฟ  หัวข้อทั้งสองอย่างนี้ย่อมต้องมีการเขียนเป็นจุดประสงค์ทั่วไปไว้เพื่อให้ทราบอย่างแน่นอนว่า ผู้สอนต้องการจะให้ผู้เรียนมีความรู้พื้นฐานและทักษะสามารถทำงานอะไรบ้างเมื่อเรียนจบบทเรียนนั้นแล้วจุดประสงค์ทั่วไปและหัวข้อต่าง ๆ นี้ จะเป็นเสมือนกรอบในการออกแบบโปรแกรมการเรียนการสอนซึ่งประกอบด้วยเนื้อหาความรู้และวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ของการเรียน
3. ลักษณะของผู้เรียน (Learner Characteristics)  เป็นการสำรวจเพื่อพิจารณาดูถึง       ภูมิหลังด้านสังคม  การศึกษา  และสภาพเศรษฐกิจของผู้เรียนแต่ละคน  ทั้งนี้เพื่อความสะดวกในการจัดสภาพการเรียนรู้และวิธีการเรียนให้เหมาะสมตามความสามารถและความสนใของผู้เรียน
4. เนื้อหาวิชาและการวิเคราะห์งาน (Subject Content, Task Analysis)  ในการวางแผนการสอนเนื้อหาวิชาที่เกี่ยวข้องกับหัวเรื่องนับว่าเป็นสิ่งสำคัญมากอย่างหนึ่งโดยที่ต้องมีการเรียบเรียงเนื้อหาตามลำดับขั้นตอนให้เหมาะสมและง่ายต่อความเข้าใจของผู้เรียน  เนื้อหาวิชาและการวิเคราะห์งานนี้สามารถใช้เพื่อเป็นเกณฑ์ในการกำหนดวัตถุประสงค์ หรือเพื่อจัดหาโสตทัศนูปกรณ์และเพื่อเป็นการออกแบบเครื่องมือทดสอบเพื่อประเมินการเรียนก็ได้
5. วัตถุประสงค์ของการเรียน (Learning Objectives)  เป็นการตั้งวัตถุประสงค์ของการเรียนว่า ผู้เรียนควรรู้หรือสามารถทำอะไรได้บ้างเมื่อเรียนบทเรียนนั้นจบแล้ว  นอกจากนั้นผู้เรียนจะต้องมีพฤติกรรมอะไรบ้างที่สามารถวัดหรือสังเกตเห็นได้  วัตถุประสงค์นี้จึงต้องเป็นวัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรมเพื่อเป็นการวางโครงร่างของการสอน  นับว่าเป็นการช่วยในการวางแผนการสอนและการจัดลำดับเนื้อหาวิชา  ตลอดจนเป็นแนวทางในการประเมินผู้เรียนและประสิทธิภาพของการเรียนการสอนด้วย
6. กิจกรรมการเรียนการสอน (Teaching/Learning Activities)  ในการวางแผนและเลือกกิจกรรมการเรียนการสอนนั้น  ผู้สอนควรจะคำนึงถึงแบบแผนสำคัญ 3 อย่าง คือ การเสนอเนื้อหาในชั้นเรียนควรเป็นรูปแบบใด  วิธีการเรียนของผู้เรียนควรเป็นอย่างไร  และกิจกรรมที่จะก่อให้เกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้สอนกับผู้เรียนควรมีอะไรบ้าง สิ่งต่าง ๆ เหล่นี้ย่อมขึ้นอยู่กับความ      เหมาะสม เช่น ควรมีการเสนอเนื้อหาการเรียนในชั้นแก่ผู้เรียนพร้อมกันในคราวเดียวทั้งหมดหรือควรให้การเรียนรายบุคคล หรือการสร้างเสริมประสบการณ์แก่ผู้เรียนนั้นควรจะใช้วิธีการอภิปรายหรือวิธีการทำกิจกรรมกลุ่ม เป็นต้น การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่เหมาะสมย่อมขึ้นอยู่กับสภาพการณ์ต่าง ๆ หลายประการ นับตั้งแต่จุดมุ่งหมาย ลักษณะของผู้เรียน เนื้อหาวิชา และการวัดผล  โดยที่ผู้สอนต้องคำนึงถึงกลุ่มผู้เรียนว่ามีขนาดเท่าใด  เพื่อที่จะสามารถจัดกิจกรรมให้สอดคล้องกับจุดมุ่งหมายของวิชาและความสนใจของกลุ่ม  นอกจากนั้น การเลือกวัสดุอุปกรณ์สื่อการสอนก็ต้องให้สัมพันธ์กับกิจกรรมการเรียนการสอนด้วย
7. ทรัพยากรในการสอน (Instructional Resources)  ทรัพยากรในที่นี้ หมายถึง สื่อการสอนที่จะช่วยสนับสนุนและส่งเสริมให้กิจกรรมการเรียนการสอนเป็นไปได้อย่างดีมีประสิทธิภาพสื่อต่าง ๆ เหล่านี้สามารถแยกได้เป็น 6 ประเภทคือ ของจริง สื่อที่ไม่ใช่เครื่องฉาย เครื่องเสียงภาพนิ่งที่ใช้กับเครื่องฉาย ภาพเคลื่อนไหวที่ใช้กับเครื่องฉาย  และการใช้สื่อประสม  ผู้สอนต้องเลือกสื่อมาใช้ให้เหมาะสมโดยคำนึงถึงกลุ่มผู้เรียนและสถานการณ์การเรียนการสอนด้วย
8. บริการสนับสนุน (Support Services)  บริการสนับสนุนรวมถึงการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกในการเรียนการสอนนับเป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่ง  ทั้งนี้ย่อมขึ้นอยู่กับงบประมาณของโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาแต่ละแห่งด้วยว่า จะมีงบประมาณในการว่าจ้างบุคลากรและซื้อวัสดุอุปกรณ์เพื่อใช้ในการศึกษามากน้อยเพียงใด บริการนี้รวมไปถึงค่าใช้จ่ายในการให้คำปรึกษาและวางแผนของนักวิชาการ  การทดลองผลงาน  การฝึกอบรม  บริการสนับสนุนนี้แบ่งได้เป็น 6 ประเภทคือ งบประมาณ สถานที่อาคารเรียน สื่อวัสดุ  อุปกรณ์  บุคลากร และตารางเวลาที่เหมาะสมในการทำงาน
9. การประเมินการเรียน (Learning Evaluation)  เป็นการประเมินว่าผู้เรียนนั้นได้รับความรู้สามารถบรรลุผลตามจุดมุ่งหมายที่ตั้งไว้หรือไม่และมากน้อยเพียงใด  โดยการสร้างเครื่องมือทดสอบและวัดผล  ทั้งนี้เพื่อเป็นการทราบข้อบกพร่องต่าง ๆ ของระบบการสอน  และเพื่อเป็นแนวทางในการปรับปรุงแก้ไขระบบการสอนนั้นต่อไป
10. การทดสอบก่อนการเรียน (Pretesting)  เป็นการทดสอบก่อนว่าผู้เรียนมีประสบการณ์เดิมและพื้นความรู้เกี่ยวกับเรื่องที่จะสอนใหม่อย่างไรบ้าง หรือมีความรู้ความชำนาญอะไรบ้างเกี่ยวกับวิชาที่เรียนมาแล้ว  การประเมินก่อนการเรียนเป็นเครื่องชี้ความพร้อมของผู้เรียนว่า ผู้เรียนควรจะได้เรียนรู้อะไรเพิ่มเติมอีกบ้างจากความรู้เก่าที่เคยเรียนมาก
          ระบบการสอนใหม่ของเคมพ์ (พ.ศ. 2537)  ได้ปรับปรุงจากแบบจำลองที่สร้างไว้ในปี พ.ศ. 2528  เพื่อให้เหมาะสมกับการเรียนการสอนในยุคสารสนเทศ โดยเพิ่มวงนอกของ การวางแผน  การประเมินรวบยอด  การจัดการโครงการ  และบริการสนับสนุน  ขึ้นอีกวงหนึ่งรอบนอกของการประเมินขณะสอน  และการปรับปรุง  ในการใช้ระบบการสอนทั้ง 10 ขั้นตอนนี้  ผู้สอนจะต้องเริ่มต้นจากจุดศูนย์กลางก่อนโดยพิจารณาในเรื่องของความต้องการในการเรียน  จุดมุ่งหมายในการสอนและข้อจำกัดต่าง ๆ หลังจากนั้นจะเริ่มใช้ในขั้นตอนใดก่อนก็ได้โดยไม่จำเป็นต้องเรียงลำดับกันและสามารถพัฒนาการสอนในขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่งให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากยิ่งขึ้นได้ด้วยการใช้การประเมิน 2 ลักษณะ คือ การประเมินขณะสอน (formative evaluation) เป็นการประเมินในระหว่างดำเนินงานพัฒนาระบบการสอน  และมีการปรับปรุงควบคู่กันไปด้วย หลังจากนั้นจะเป็นการประเมินรวบยอด (summative evaluation)  เป็นการประเมินหลังจากการใช้ระบบการสอนนั้นสิ้นสุด  ทั้งนี้เพื่อเป็นการปรับปรุงระบบการสอนให้ใช้ดีมีคุณภาพ  ในขณะเดียวกันจะมีการให้บริการสนับสนุน  การวางแผน  และการจัดการโครงการเพื่อพัฒนาระบบการสอนนั้นด้วย
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าระบบการสอนของเคมพ์จะช่วยผู้ออกแบบได้เป็นอย่างมากก็ตาม แต่ระบบนี้ก็ยังมีข้อจำกัดอยู่ 2 ประการ คือ การที่ไม่มีลักษณะเฉพาะของบางขั้นตอน เช่น การตั้ง     วัตถุประสงค์ที่เป็นความจำเป็นในระดับของผู้ออกแบบ  และระบบการสอนนี้ยังให้ความสนใจต่อการวิเคราะห์การสอนน้อยมาก  แต่จะมีข้อดีที่เห็นได้ชัด คือ มีขั้นตอนของการระบุกิจกรรมการเรียนการสอนทั้งในกลุ่มใหญ่ กลุ่มเล็ก  และการเรียนแบบอิสระ  ที่ให้ไว้ก่อนที่จะมีการเลือกใช้ทรัพยากรการเรียนการสอน


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น