วันพฤหัสบดีที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

ระบบการสอนของเกอร์ลาชและอีลี (Gerlach and Ely)


ระบบการสอนของเกอร์ลาชและอีลี  (Gerlach and Ely)
          ระบบการสอนของเกอร์ลาชและอีลีนับเป็นระบบการสอนที่ใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วไปมีการแบ่งขั้นตอนออกได้เป็น 10 ขั้นตอน คือ


                                     
1.      การกำหนดวัตถุประสงค์ (Specification  of  Objectives)  ระบบการสอนนี้เริ่มต้นการสอนด้วยการกำหนดวัตถุประสงค์ของการเรียนขึ้นมาก่อนว่าควรเป็น วัตถุประสงค์เฉพาะ หรือเป็น วัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรม  ที่ผู้เรียนสามารถปฏิบัติและผู้สอนวัดหรือสังเกตได้
2.      การกำหนดเนื้อหา (Specification of Content)  เป็นการเลือกเนื้อหาที่เหมาะสมเพื่อกำหนดให้ผู้เรียนได้เรียนรู้และบรรลุวัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรมที่ตั้งไว้
3.      การประเมินพฤติกรรมเบื้องต้น (Assessment of Entry Behaviors)  เป็นการประเมินก่อนการเรียน เพื่อให้ทราบถึงพฤติกรรมและภูมิหลังของผู้เรียนก่อนที่จะเรียนเนื้อหานั้น ๆ ว่า         ผู้เรียนมีความรู้ความสามารถในเรื่องที่จะสอนนั้นมากน้อยเพียงใด  ทั้งนี้เพื่อเป็นแนวทางในการที่จะจัดการเรียนการสอนได้อย่างเหมาะสม
4.      การกำหนดกลยุทธ์ของวิธีการสอน (Determination of Strategy)  การกำหนดกลยุทธ์เป็นวิธีการของผู้สอนในการใช้ความรู้ เลือกทรัพยากร และกำหนดบทบาทของผู้เรียนในการเรียน  ซึ่งเป็นแนวทางเฉพาะเพื่อช่วยให้สามารถบรรลุถึงวัตถุประสงค์ของการเรียนการสอนนั้น  วิธีการสอนตามกลยุทธ์นี้แบ่งได้เป็น  2  แบบ คือ
4.1  การสอนแบบเตรียมเนื้อหาความรู้ให้แก่ผู้เรียนโดยสมบูรณ์ทั้งหมด (expository approach)  เป็นการสอนที่ผู้สอนป้อนความรู้ให้ผู้เรียนโดยการใช้สื่อต่าง ๆ และจากประสบการณ์ของผู้สอน การสอนแบบนี้ได้แก่ การสอนแบบบรรยาย  หรือการสอนแบบอภิปราย  โดยที่ผู้เรียนไม่จำเป็นต้องค้นคว้าหาความรู้ใหม่ด้วยตนเองแต่อย่างใด
4.2  การสอนแบบสืบเสาะหาความรู้หรือแบบไต่ถาม (discovery or inquiry approach)  เป็นการสอนที่ผู้สอนมีบทบาทเพียงเป็นผู้เตรียมสื่อและจัดสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ในการเรียน  เป็นการจัดสภาพการณ์ให้การเรียนรู้บรรลุตามจุดมุ่งหมายที่ตั้งไว้โดยที่ผู้เรียนต้องค้นคว้าหาความรู้เอาเอง
5.      การจัดแบ่งกลุ่มผู้เรียน (Organization of Groups)  เป็นการจัดกลุ่มผู้เรียนให้      เหมาะสมกับวิธีสอนและเพื่อให้ได้เรียนรู้ร่วมกันอย่างเหมาะสม โดยจะต้องพิจารณาจากวัตถุประสงค์  เนื้อหา และวิธีการสอนด้วย
6.      การกำหนดเวลาเรียน (Allocation of Time)  การกำหนดเวลาหรือการใช้เวลาในการเรียนการสอนจะขึ้นอยู่กับเนื้อหาที่จะเรียน  วัตถุประสงค์  สถานที่  และความสนใจของผู้เรียน
7.      การจัดสถานที่เรียน (Allocation of Space)  การจัดสถานที่เรียนจะขึ้นอยู่กับขนาดของกลุ่มผู้เรียน  แต่ในบางครั้งสถานที่เรียนแต่ละแห่งอาจจะไม่เหมาะสมกับวิธีการสอนแต่ละอย่าง    ดังนั้น  จึงควรมีสถานที่เรียนหรือห้องเรียนในลักษณะต่างกัน 3 ขนาดคือ
7.1  ห้องเรียนขนาดใหญ่  สามารถสอนได้ครั้งละ 50-300 คน
7.2  ห้องเรียนขนาดเล็ก  เพื่อใช้ในการเรียนการสอนแบบกลุ่มย่อยหรือการจัดกลุ่มสัมมนาหรืออภิปราย
7.3 ห้องเรียนแบบเสรีหรืออิสระ  เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนตามลำพังซึ่งอาจเป็นศูนย์สื่อการสอนที่มีคูหาเรียนรายบุคคล
8.      การเลือกสรรทรัพยากร (Allocation of Resources)  เป็นการที่ผู้สอนเลือกสื่อการสอนที่เหมาะสมกับวัตถุประสงค์ เนื้อหา วิธีการสอน และขนาดของกลุ่มผู้เรียนเพื่อให้การสอนบรรลุตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้  การเลือกใช้ทรัพยากรหรือสื่อการสอนสามารถแบ่งได้เป็น  5 ประเภทคือ
8.1  สื่อบุคคลและของจริง หมายถึง ผู้สอน ผู้ช่วยสอน วิทยากรพิเศษ หรือของจริง   ต่าง ๆ เพื่อช่วยในการประกอบการสอน เป็นต้น
8.2 วัสดุและอุปกรณ์เครื่องฉาย เช่น ภาพยนตร์ แผ่นโปร่งใส สไลด์ ฟิล์มสทริป ฯลฯวัสดุและอุปกรณ์เครื่องเสียง เช่น วิทยุ  เครื่องบันทึกเสียง ฯลฯ
8.3 สิ่งพิมพ์ เช่น หนังสือ  วารสาร  รูปภาพ ฯลฯ
8.4  วัสดุที่ใช้แสดง เช่น แผนที่ ลูกโลก ของจำลองต่าง ๆ ฯลฯ
9.      การประเมินสมรรถนะ (Evaluation of Performance) เป็นการประเมินสรรถนะความสามารถและพฤติกรรมของผู้เรียนอันเกิดจากกระบวนการปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนกับผู้เรียนระหว่างผู้สอนกับผู้เรียน หรือระหว่างผู้เรียนกับสื่อการสอน  การประเมินเป็นสิ่งสำคัญมากในการเรียนและเป็นกระบวนการขั้นสุดท้ายของระบบการสอนที่ยึดเอาวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้เป็นหลักในการดำเนินงาน
10.  การวิเคราะห์ข้อมูลป้อนกลับ (Analysis of Feedback)  เมื่อขั้นตอนของการประเมินเสร็จสิ้นลงแล้วจะทำให้ทราบได้ว่าผลที่เกิดขึ้นนั้นเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้มากน้อยเพียงใด  ถ้าผลที่เกิดขึ้นนั้นไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์  ก็ต้องทำการวิเคราะห์ผลหรือย้อนกลับมาพิจารณาว่า ในการดำเนินงานตั้งแต่ต้นนั้นมีข้อบกพร่องอะไรบ้างในระบบหรือว่ามีปัญหาประการใดบ้าง  ทั้งนี้เพื่อเป็นแนวทางในการปรับปรุงแก้ไขระบบการสอนให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น